คณะกรรมการบริษัทได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานภายใต้ข้อพึงปฏิบัติที่ดี (Code of Best Practices) ที่จะทำให้กลุ่มบริษัทเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพทั้งในการดำเนินธุรกิจ มีการบริหารจัดการที่ดี และเพื่อให้ดำเนินธุรกิจด้วยการมีความรับผิดชอบอย่างมีจรรยาบรรณ

และเป็นการเสริมสร้างความโปร่งใสและประสิทธิภาพของฝ่ายจัดการ และจากการที่คณะกรรมการบริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการด้วยความรอบคอบ รัดกุม เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้ถือหุ้นและผุ้มีส่วนได้เสียต่อการดำเนินกิจการของบริษัทฯ จะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทฯ

จึงแต่งตั้งคณะกรรมการชุดย่อยขึ้นเพื่อให้เกิดการกำกับดูแลกิจการเฉพาะเรื่องอย่างใกล้ชิด จำนวน 4 ชุด

ได้แก่ คณะกรรมการตรวจสอบ คณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน คณะกรรมการบริหาร และคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง เพื่อทำหน้าที่พิจารณากลั่นกรองการดำเนินกิจการต่างๆ เฉพาะเรื่องตามบทบาทและหน้าที่ที่คณะกรรมการบริษัทมอบหมาย

นโยบายการกำกับดูแลกิจการ

คณะกรรมการชุดย่อยแต่ละชุดมีองค์ประกอบ คุณสมบัติ และขอบเขตอำนาจหน้าที่ ตามกฎบัตรของคณะกรรมการชุดย่อยต่างๆ โดยสรุปได้ดังนี้

แต่งตั้งจากกรรมการอิสระอย่างน้อย 3 ท่าน โดยต้องมีความรู้ด้านบัญชี / การเงินอย่างน้อย 1 ท่าน และมีคุณสมบัติตามที่ตลาดหลักทรัพย์และคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำหนด คณะกรรมการตรวจสอบมีหน้าที่ตรวจสอบและสอบทานความน่าเชื่อถือของงบการเงิน ตรวจสอบและกำกับดูแลให้มั่นใจว่าบริษัทมีระบบการควบคุมภายใน ระบบการตรวจสอบภายใน สอบทานระบบบริหารความเสี่ยงเพื่อให้เชื่อมโยงกับการควบคุมภายใน ให้มีความเหมาะสมและมีประสิทธิผล

แต่งตั้งจากคณะกรรมการบริษัทอย่างน้อย 3 ท่าน และอย่างน้อย 1 ท่าน ต้องเป็นกรรมการอิสระ คณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนมีหน้าที่คัดเลือกบุคคลที่มีความเหมาะสมสมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นคณะกรรมการบริษัท หรือประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือผู้บริหารระดับสูง โดยมีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการสรรหาที่มีประสิทธิภาพและโปร่งใสเพื่อให้ได้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถ สามารถส่งเสริมองค์กรได้ และมีหน้าที่พิจารณาแนวทางการกำหนดค่าตอบแทนให้แก่คณะกรรมการบริษัท ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โดยมีการกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาที่เป็นธรรมและสมเหตุสมผล เทียบเคียงได้กับอุตสาหกรรมประเภทเดียวกันหรือใกล้เคียงเพื่อเสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท หรือที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาต่อไป

แต่งตั้งจากคณะกรรมการบริษัท จำนวน 5 ท่าน คณะกรรมการบริหารมีบทบาทและหน้าที่สำคัญในการดำเนินการให้เป็นไปตามกลยุทธ์ นโยบาย รวมถึงระเบียบของบริษัท และมีอำนาจควบคุมดูแลกิจการของบริษัทในการพิจารณากลั่นกรองแผนธุรกิจและงบประมาณประจำปีเพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัท กำหนดนโยบายการเงินการลงทุน และกำหนดทิศทางนโยบายการลงทุนให้สอดคล้องกับนโยบายของบริษัท พิจารณาและดำเนินการในประเด็นที่สำคัญซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการดำเนินงานของบริษัท พิจารณากลั่นกรองและให้ข้อเสนอแนะงานทุกประเภทที่เสนอต่อคณะกรรมการบริษัท

การสรรหากรรมการและผู้บริหาร

เมื่อตำแหน่งกรรมการบริษัทว่างลง คณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนมีหน้าที่สรรหาและคัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการโดยพิจารณาจากผู้ที่มีความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจบริษัท รวมทั้งคำนึงถึงโอกาสที่อาจมีปัญหาในเรื่องความขัดแย้งทางผลประโยชน์ของกรรมการ คณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน ทำหน้าที่สรรหากรรมการ โดยพิจารณาจากผู้ที่มีคุณสมบัติที่เป็นประโยชน์และเหมาะสมกับบริษัทดังมีรายละเอียดตามหัวข้อขอบเขตอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน

การเลือกตั้งกรรมการทดแทนกรรมการที่ออกจากตำแหน่งเมื่อครบวาระต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีด้วยคะแนนเสียงข้างมากของผู้ถือหุ้นที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียงโดยมีหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งเป็นกรรมการ ดังนี้

คณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนจะพิจารณารายชื่อบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเป็นกรรมการบริษัทและเสนอให้คณะกรรมการบริษัท พิจารณาอีกครั้งหนึ่งก่อนเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อเลือกตั้ง ทั้งนี้ ผู้ถือหุ้นทุกรายมีสิทธิที่จะเสนอชื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นกรรมการบริษัทได้

ในกรณีที่จำนวนบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการมีไม่เกินกว่าจำนวนกรรมการที่จะพึงได้รับการเลือกตั้งในครั้งนั้น ให้เสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นเลือกตั้งบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการทุกคน โดยออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งเป็นรายบุคคล และต้องได้รับคะแนนเสียงข้างมาก

ในกรณีที่จำนวนบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการ มีจำนวนเกินกว่าจำนวนกรรมการที่พึงจะได้รับการเลือกตั้งในครั้งนั้น ให้ผู้ถือหุ้นออกเสียงลงคะแนนเพื่อเลือกตั้งบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการเป็นรายบุคคลได้ไม่เกินจำนวนกรรมการที่จะพึงได้รับการเลือกตั้งในครั้งนั้น และให้บุคคลซึ่งได้รับคะแนนสูงสุดตามลำดับลงมาเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการเท่ากับจำนวนกรรมการที่จะพึงมีการเลือกตั้งกรรมการทดแทนตำแหน่งที่ว่างในกรณีอื่นที่ไม่ใช่เนื่องมาจากการครบวาระ คณะกรรมการบริษัท อาจเลือกตั้งกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่างได้ด้วยคะแนนเสียงไม่ต่ำกว่าสามในสี่ของจำนวนกรรมการที่ยังเหลืออยู่ ทั้งนี้ บุคคลที่เข้ามาเป็นกรรมการทดแทนจะมีวาระการดำรงตำแหน่งเท่ากับวาระเดิมที่เหลืออยู่ของกรรมการที่ออกไป

สำหรับการสรรหาประธานเจ้าหน้าที่บริหาร คณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนจะพิจารณาจากผู้ที่มีทักษะ ประสบการณ์ วิชาชีพ คุณสมบัติเฉพาะในด้านต่าง ๆ ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งและเป็นประโยชน์สูงสุดต่อบริษัท รวมทั้งคำนึงถึงโอกาสที่อาจมีปัญหาในเรื่องความขัดแย้งทางผลประโยชน์ด้วย และต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัท

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารได้รับมอบอำนาจให้เป็นผู้พิจารณาบรรจุและแต่งตั้งบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ในธุรกิจของบริษัท ลงในตำแหน่งบริหารได้และรายงานให้คณะกรรมการบริษัททราบ ยกเว้นในระดับรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารขึ้นไป ต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัท ทั้งนี้ สำหรับการแต่งตั้งหัวหน้าหน่วยงานระดับบริหารเกี่ยวกับการตรวจสอบจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการตรวจสอบก่อน

การดูแลเรื่องการใช้ข้อมูลภายใน

บริษัท มีนโยบายในการดำเนินการแจ้งให้ผู้บริหารฝ่ายต่างๆ ให้เข้าใจถึงภาระหน้าที่ในการรายงานการถือหลักทรัพย์ในบริษัท ของตนเอง คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ตลอดจนรายงานการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ตามมาตรา 59 และบทกำหนดโทษตามมาตรา 275 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ดังนี้

  1. กำหนดให้กรรมการและผู้บริหาร จัดทำและนำส่งรายงานการถือหลักทรัพย์ของตนของคู่สมรส และของบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะส่งผ่านมายังเลขานุการของบริษัทฯ ก่อนนำส่งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ทุกครั้ง โดยให้จัดทำและนำส่งภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง เป็นกรรมการ ผู้บริหารหรือรายงานการเปลี่ยนแปลงการถือครองหลักทรัพย์ภายใน 3 วันทำการนับแต่วันที่มีการซื้อ ขาย โอน หรือรับโอนหลักทรัพย์นั้นตามมาตรา 59 และบทกำหนดโทษตามมาตรา 275 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์พ.ศ. 2535
  2. กำหนดให้กรรมการ ผู้บริหาร และผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องที่ได้รับทราบข้อมูลภายในที่เป็นสาระสำคัญ ซึ่งมีผลต่อ การเปลี่ยนแปลงราคาหลักทรัพย์จะต้องระงับการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทฯ ในช่วงเวลาก่อนที่จะเผยแพร่งบการเงินหรือเผยแพร่เกี่ยวกับฐานะการเงินและสถานะ ของบริษัทฯ จนกว่าบริษัทฯ จะได้เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชนแล้ว โดยบริษัทฯ จะแจ้งให้กรรมการและผู้บริหาร งดการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทฯ อย่างเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นเวลาอย่างน้อย 30 วันล่วงหน้าก่อนการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชน (Blackout period)และควรรอคอยอย่างน้อย 24 ชั่วโมงภายหลังการเปิดเผยข้อมูลให้แก่สาธารณชนแล้ว รวมทั้งห้ามไม่ให้เปิดเผยข้อมูล ที่เป็นสาระสำคัญนั้นต่อบุคคลอื่น
  3. หากมีการใช้ข้อมูลภายในที่ยังไม่ได้เปิดเผย ต่อประชาชนในการซื้อขายหลักทรัพย์โดยเป็นการเอาเปรียบบุคคลภายนอก (Insider Trading) ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงระยะเวลา ดังกล่าวหรือไม่ บุคคลที่กระทำการดังกล่าวยังคงต้องรับผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535โดยสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. มีสิทธิเรียกให้ ส่งมอบผลประโยชน์ที่ได้ รวมทั้งอาจต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับเป็นเงินไม่เกินสองเท่าของประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับจากการกระทำฝ่าฝืนแต่ไม่น้อยกว่า 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  4. กำหนดให้กรรมการและผู้บริหารจะต้องนำส่งรายงานการมีส่วนได้เสียของตนหรือของบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกันซึ่งเป็นส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการกิจการ ของบริษัทฯ หรือบริษัทย่อยฯ โดยจะต้องนำส่งรายงานครั้งแรกภายใน 30 วันหลังจากได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการหรือผู้บริหารตามแบบรายงานที่กำหนด และรายงาน ทุกครั้งเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงภายใน 30 วันหลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงตามแบบรายงานที่กำหนด
  5. ห้ามมิให้กรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน และลูกจ้างของบริษัทฯใช้ข้อมูลภายในของบริษัทฯ ที่มีหรืออาจมีผลกระทบ ต่อการเปลี่ยนแปลงราคาของหลักทรัพย์ของบริษัทฯซึ่งยังมิได้เปิดเผยต่อสาธารณชน ซึ่งตนได้ล่วงรู้มาในตำแหน่งหรือฐานะเช่นนั้น มาใช้เพื่อการซื้อหรือขายหรือเสนอซื้อ หรือเสนอขาย หรือชักชวนให้บุคคลอื่นซื้อหรือขายหรือเสนอซื้อ หรือเสนอขายซึ่งหุ้นหรือหลักทรัพย์อื่น (ถ้ามี) ของบริษัทฯ ไม่ว่าทั้งทางตรงหรือทางอ้อม ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่บริษัทฯ ไม่ว่าทั้งทางตรงหรือทางอ้อม และไม่ว่าการกระทำดังกล่าวจะทำเพื่อประโยชน์ ต่อตนเองหรือผู้อื่น หรือนำข้อเท็จจริงเช่นนั้นออกเปิดเผยเพื่อให้ผู้อื่นกระทำดังกล่าว โดยตนได้รับผลประโยชน์ตอบแทนหรือไม่ก็ตาม

การปฏิบัติตามหลักการการกำกับดูแลกิจการที่ดีตามหลักมาตรฐานสากล

บริษัท ได้ปฏิบัติตามหลักการและแนวทางปฏิบัติที่ดีของตลาดหลักทรัพย์ฯ ตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียน สรุปได้ ดังนี้

บริษัท ได้ให้ความสำคัญต่อสิทธิของผู้ถือหุ้นในการได้รับข้อมูลของบริษัท อย่างถูกต้อง ครบถ้วน เพียงพอ ทันเวลา และเท่าเทียมกัน เพื่อประกอบการตัดสินใจในทุกๆ เรื่อง ดังนั้น คณะกรรมการบริษัทจึงมีนโยบายดังนี้

  1. ให้บริษัท จัดส่งหนังสือนัดประชุมพร้อมทั้งข้อมูลประกอบการประชุมตามวาระต่าง ๆ ให้เพียงพอ โดยระบุวัตถุประสงค์และเหตุผล ตลอดจนความเห็นของคณะกรรมการในทุกวาระเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นได้ศึกษาข้อมูลอย่างครบถ้วนล่วงหน้าก่อนวันประชุมผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่า 14 วัน ในกรณีที่ผู้ถือหุ้นไม่สามารถเข้าร่วมประชุมด้วยตนเองได้ บริษัท เปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นสามารถมอบฉันทะให้กรรมการอิสระหรือบุคคลใดๆ เข้าร่วมประชุมแทนตนได้ โดยใช้หนังสือมอบฉันทะที่บริษัท ได้จัดส่งไปพร้อมกับหนังสือเชิญประชุม
  2. อำนวยความสะดวกแก่ผู้ถือหุ้นทุกรายอย่างเท่าเทียมกันในการเข้าร่วมประชุมทั้งในเรื่องสถานที่ และเวลาที่เหมาะสม
  3. ในการประชุมผู้ถือหุ้น จะพิจารณาและลงคะแนนเรียงตามวาระที่กำหนด โดยไม่เปลี่ยนแปลงข้อมูลสำคัญ หรือเพิ่มวาระการประชุมในการประชุมอย่างกะทันหัน และเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นมีสิทธิ เท่าเทียมกันในการตรวจสอบการดำเนินงานของบริษัท สอบถาม แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ และกรรมการและผู้บริหารที่เกี่ยวข้องจะเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อตอบคำถามในที่ ประชุมด้วย
  4. ให้เพิ่มช่องทางในการรับทราบข่าวสารของผู้ถือหุ้นผ่านทาง website ของบริษัท โดยนำข่าวสารต่าง ๆ และรายละเอียดเปิดเผยไว้ที่ website ของบริษัท โดยเฉพาะในกรณีหนังสือเชิญประชุมผู้ถือหุ้นให้เผยแพร่ก่อนวันประชุมล่วงหน้า เพื่อให้ผู้ถือหุ้นสามารถดาวน์โหลดข้อมูลระเบียบวาระการประชุมได้อย่างสะดวกและครบถ้วน
  5. นโยบายให้กรรมการทุกท่านเข้าร่วมประชุมเพื่อตอบข้อซักถามจากผู้ถือหุ้นโดยพร้อมเพรียงกัน
  6. การจดบันทึกรายงานการประชุม ให้บันทึกให้ครบถ้วน ถูกต้อง รวดเร็ว โปร่งใส และบันทึกประเด็นซักถามและข้อคิดเห็นที่สำคัญไว้ในรายงานการประชุมเพื่อให้ผู้ถือหุ้นสามารถตรวจสอบได้ นอกจากนี้บริษัท ยังได้มีการบันทึกวีดีทัศน์ภาพการประชุมเพื่อเก็บรักษาไว้อ้างอิง นอกจากนี้ ให้บริษัทนำรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นเผยแพร่ใน website ของบริษัท เพื่อให้ผู้ถือหุ้นได้พิจารณา รวมถึงส่งรายงานการประชุมดังกล่าวไปยังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ภายใน 14 วัน นับแต่วันที่มีการประชุมผู้ถือหุ้นนั้น
  7. เพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้ถือหุ้นในการได้รับเงินปันผลโดยการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร (ถ้ามีการจ่ายเงินปันผล) เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ถือหุ้นให้ได้รับเงินปันผลตรงเวลา ป้องกันปัญหาเรื่อง เช็คชำรุด สูญหาย หรือส่งถึงผู้ถือหุ้นล่าช้า

บริษัท ได้กำหนดให้มีการปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้น คณะกรรมการบริษัท จึงมีนโยบายดังนี้

  1. ให้บริษัท จัดส่งหนังสือนัดประชุมพร้อมทั้งข้อมูลประกอบการประชุมให้ผู้ถือหุ้นทราบล่วงหน้าก่อนการประชุมไม่น้อยกว่า 14 วัน เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นได้ศึกษาข้อมูลอย่างครบถ้วนก่อนวันประชุมผู้ถือหุ้น
  2. ให้ศึกษาแนวทางเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นส่วนน้อยสามารถเสนอชื่อกรรมการ หรือเสนอวาระการประชุมเพิ่มเติมได้ก่อนการประชุมผู้ถือหุ้น
  3. ให้เพิ่มการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ถือหุ้นที่ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ด้วยตนเอง โดยให้ผู้ถือหุ้นสามารถมอบฉันทะให้บุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือให้มีกรรมการอิสระอย่างน้อย 1 คนเข้าร่วมประชุมและลงมติแทนได้ และแจ้งรายชื่อกรรมการอิสระดังกล่าวไว้ในหนังสือนัดประชุมผู้ถือหุ้น
  4. ให้ปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นทุกรายอย่างเท่าเทียมกันไม่ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่หรือผู้ถือหุ้นส่วนน้อย ไม่ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้นชาวไทยหรือผู้ถือหุ้นต่างชาติ

บริษัท ตระหนักและรับรู้ถึงสิทธิของผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มไม่ว่าจะเป็นผู้มีส่วนได้เสียภายใน ได้แก่ ผู้ถือหุ้น พนักงาน และผู้มีส่วนได้เสียภายนอก ได้แก่ ลูกค้า คู่ค้า เจ้าหนี้ คู่แข่ง ภาครัฐ และหน่วยงานอื่นๆ รวมทั้งชุมชนใกล้เคียงที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากบริษัท ได้รับการสนับสนุนจากผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ ซึ่งสร้างความสามารถในการแข่งขันและสร้างกำไรให้บริษัท ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างคุณค่าในระยะยาวให้กับบริษัท โดยมีการกำหนดนโยบาย ดังนี้

  1. นโยบายและแนวปฏิบัติต่อพนักงาน

    บริษัท ตระหนักว่า พนักงานเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จของการบรรลุเป้าหมายของบริษัท ที่มีคุณค่ายิ่งจึงเป็นนโยบายของบริษัท ที่จะให้การปฏิบัติต่อพนักงานอย่างเป็นธรรมทั้งในด้านโอกาส ผลตอบแทนการแต่งตั้ง โยกย้าย ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายดังกล่าว บริษัท จึงมีหลักปฏิบัติดังนี้

    • ปฏิบัติต่อพนักงานด้วยความสุภาพ และให้ความเคารพต่อความเป็นปัจเจกชน ให้ผลตอบแทนที่เป็นธรรมต่อพนักงาน รวมทั้งมีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงาน และให้ความสำคัญในด้านการดูแลสวัสดิการของพนักงาน
    • ดูแลรักษาสภาพแวดล้อมในการทำงานให้มีความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของพนักงาน การแต่งตั้ง โยกย้าย รวมถึงการให้รางวัลและการลงโทษพนักงาน กระทำด้วยความสุจริตใจ และตั้งอยู่บนพื้นฐานความรู้ ความสามารถ และความเหมาะสมของพนักงานนั้น
    • ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาความรู้ ความสามารถของพนักงาน โดยให้โอกาสอย่างทั่วถึงและสม่ำเสมอ เพื่อพัฒนาความสามารถของพนักงานให้เกิดศักยภาพในการปฏิบัติงานอย่างมืออาชีพ
    • รับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานความรู้ทางวิชาชีพของพนักงานปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพนักงานอย่างเคร่งครัด

  2. นโยบายและแนวปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้น

    บริษัท ระลึกอยู่เสมอว่าผู้ถือหุ้น คือ เจ้าของกิจการ และบริษัท มีหน้าที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ถือหุ้น ในระยะยาวจึงกำหนดให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานต้องปฏิบัติตามแนวทางดังต่อไปนี้

    • ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ตลอดจนตัดสินใจดำเนินการใดๆ ตามหลักการของวิชาชีพ ด้วยความระมัดระวัง รอบคอบ และเป็นธรรมต่อผู้ถือหุ้นทั้งรายใหญ่และรายย่อย เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้นโดยรวม
    • นำเสนอรายงานสถานภาพของบริษัท ผลประกอบการ ฐานะข้อมูลทางการเงิน การบัญชี และรายงานอื่น ๆ โดยสม่ำเสมอ และครบถ้วนตามความเป็นจริง
    • แจ้งให้ผู้ถือหุ้นทุกรายทราบอย่างเท่าเทียมกันถึงแนวโน้มในอนาคตของบริษัท ทั้งในด้านบวกและด้านลบ ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นไปได้ มีข้อมูลสนับสนุนและมีเหตุผลเพียงพอ
    • ห้ามไม่ให้แสวงหาผลประโยชน์ให้ตนเอง และผู้อื่นโดยใช้ข้อมูลใดๆ ของบริษัท ซึ่งยังมิได้เปิดเผยต่อสาธารณะ หรือดำเนินการใดๆ ในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับบริษัท

  3. นโยบายและแนวปฏิบัติต่อลูกค้า

    บริษัทมุ่งมั่นที่จะพัฒนาสินค้าและบริการของบริษัทและบริษัทในเครือเพื่อความพึงพอใจและประโยชน์สูงสุดของลูกค้าและยึดมั่นในการปฏิบัติต่อลูกค้าด้วยความรับผิดชอบ ความซื่อสัตย์ และเอาใจใส่ลูกค้า จึงได้กำหนดนโยบายในการปฏิบัติต่อลูกค้าดังนี้

    • บริการลูกค้าด้วยความสุภาพ มีความกระตือรือร้น พร้อมให้การบริการ ต้อนรับด้วยความจริงใจ เต็มใจ ตั้งใจ และใส่ใจ ดูแลผู้รับบริการดุจญาติสนิท บริการด้วยความรวดเร็ว ถูกต้อง และน่าเชื่อถือ
    • รักษาความลับของลูกค้า และไม่นำไปใช้เพื่อประโยชน์ของตนเอง หรือผู้ที่เกี่ยวข้องโดยมิชอบ
    • แจ้งให้ผู้ถือหุ้นทุกรายทราบอย่างเท่าเทียมกันถึงแนวโน้มในอนาคตของบริษัท ทั้งในด้านบวกและด้านลบ ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นไปได้ มีข้อมูลสนับสนุนและมีเหตุผลเพียงพอ
    • ให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการให้บริการของบริษัท ให้มีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์กับลูกค้าสูงสุด
    • คำนึงถึงคุณภาพและประสิทธิภาพในการให้บริการของบริษัท ซึ่งนอกเหนือจากการพัฒนาระบบการบริหารการบริการที่มีคุณภาพแล้ว บริษัทยังใส่ใจในการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยเพื่อให้ลูกค้าได้รับบริการที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพมากที่สุด
    • บริษัทคำนึงถึงความปลอดภัยของลูกค้า และมุ่งมั่นที่จะให้ลูกค้าได้รับบริการที่มีคุณภาพและมีความปลอดภัยตามมาตรฐานและกฎระเบียบข้อบังคับด้านความปลอดภัยในระดับสากล และตามที่กฎหมายกำหนด รวมถึงมีการพัฒนาและปรับปรุงพัฒนาบริการอยู่เสมอ เพื่อให้ลูกค้ามีความมั่นใจในคุณภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัยของบริการของบริษัท
    • บริษัทจัดให้มีระบบลูกค้าสัมพันธ์เพื่อใช้ในการสื่อสารติดต่อกับลูกค้า รวมถึงการรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับคุณภาพของบริการอย่างมีประสิทธิภาพผ่านทางโทรศัพท์ เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว
    • ให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการให้บริการของบริษัทให้มีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์กับลูกค้าสูงสุด
      บริษัทจัดให้มีกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างลูกค้า และระหว่างลูกค้ากับบริษัทให้ยั่งยืน

  4. นโยบายและแนวปฏิบัติต่อคู่ค้าและ/หรือเจ้าหนี้

    บริษัท มีนโยบายให้พนักงานปฏิบัติต่อคู่ค้า และ/หรือเจ้าหนี้ทุกฝ่ายอย่างเป็นธรรม ซื่อสัตย์ และไม่เอารัดเอาเปรียบคู่ค้าโดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของบริษัท พื้นฐานของการได้รับผลตอบแทนที่เป็นธรรมทั้งสองฝ่าย หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ การเจรจาแก้ปัญหาตั้งอยู่บนพื้นฐานของความสัมพันธ์ทางธุรกิจ โดยมีแนวปฏิบัติดังนี้

    • ไม่เรียก หรือรับ หรือจ่ายผลประโยชน์ใด ๆ ที่ไม่สุจริตในการค้ากับคู่ค้า และ/หรือ เจ้าหนี้ กรณีที่มีข้อมูลว่ามีการเรียก หรือรับ หรือการจ่ายผลประโยชน์ใดๆ ที่ไม่สุจริตเกิดขึ้นต้อง เปิดเผยรายละเอียดต่อคู่ค้า และ/หรือ เจ้าหนี้ และร่วมกันแก้ไขปัญหาโดยยุติธรรมและรวดเร็ว
    • ปฏิบัติตามเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ตกลงกันไว้อย่างเคร่งครัด กรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไข ข้อใดได้ต้องรีบแจ้งให้เจ้าหนี้ทราบล่วงหน้า เพื่อร่วมกันพิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหา

  5. นโยบายและแนวปฏิบัติต่อคู่แข่งขัน

    บริษัท มีนโยบายที่จะปฏิบัติต่อคู่แข่งทางการค้าโดยไม่ละเมิดความลับหรือล่วงรู้ความลับทางการค้าของคู่แข่งขันด้วยวิธีฉ้อฉล จึงกำหนดหลักนโยบายดังนี้

    • ประพฤติปฏิบัติภายใต้กรอบกติกาของการแข่งขันที่ดีี
    • ไม่แสวงหาข้อมูลที่เป็นความลับของคู่แข่งทางการค้าด้วยวิธีการที่ไม่สุจริตหรือไม่เหมาะสม
    • ไม่ทำลายชื่อเสียงของคู่แข่งทางการค้าด้วยการกล่าวหาในทางร้าย

  6. นโยบายความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

    บริษัทมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจภายใต้หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี และดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณธรรม ควบคู่ไปกับการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม ผู้ที่มีส่วนได้เสีย และ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับบริษัททุกฝ่ายอย่างจริงจัง บริษัทตระหนักถึงความสำคัญของสังคมที่อยู่ร่วมกันและมีเจตนาที่จะร่วมแบ่งปันในการดูแลรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกพื้นที่ที่เข้าไปดำเนินธุรกิจ โดยมีส่วนร่วมในการยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับชุมชนและสังคมโดยการสนับสนุนการพัฒนาชีวิตรอบด้าน อาทิ การให้ทุนสนับสนุนด้านการศึกษาและการกีฬา การสร้างงานกระจายรายได้สู่ชุมชน สนับสนุนก๊าซหุงต้มเพื่อการปรุงอาหารให้แก่โรงเรียนในพื้นที่ และ พื้นที่ขาดแคลน นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าบริษัทที่ดำเนินธุรกิจการจัดจำหน่ายก๊าซปิโตรเลียมเหลวนั้นจะต้องได้รับความไว้วางใจและเชื่อมั่นในความปลอดภัยสูงสุด ดังนั้น บริษัทจึงมีนโยบายที่จะดำเนินกิจการภายใต้กฎหมาย กฎระเบียบ มาตรฐาน และข้อบังคับต่างๆ อย่างเคร่งครัดรวมถึงกำชับให้ผู้ประกอบการในส่วนต่างๆ ดำเนินการภายใต้หลักการเดียวกัน อีกทั้งยังจัดให้มีการอบรมความรู้และการป้องกันอุบัติภัย โดยเจ้าหน้าที่จากกรมธุรกิจพลังงานให้แก่ผู้ประกอบการ ตลอดจนพนักงานบรรจุก๊าซอย่างสม่ำเสมอ

    เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์และแนวคิดดังกล่าวข้างต้น บริษัทฯ จึงกำหนดนโยบายความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม ดังต่อไปนี้

    การประกอบกิจการด้วยความเป็นธรรม

    บริษัทฯ ดำเนินงานด้วยความโปร่งใส มีการกำหนดระเบียบการปฏิบัติงานส่วนต่างๆ ที่ชัดเจน และบังคับใช้อย่างเคร่งครัดเพื่อสร้างความเท่าเทียมในการทำงาน นอกจากนี้ยังมีการกำกับดูแลระบบการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ บริษัทฯ ได้กำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติดังนี้

    • ประกอบธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต และดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ ต่อสังคม ทั้งทางกฎหมายจรรยาบรรณ และมุ่งมั่นทำความดีต่อบุคคล กลุ่มชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม
    • ประกอบธุรกิจโดยมีระบบการดำเนินงานที่มีมาตรฐานและมีการควบคุมที่ดี โดยใช้ความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่ ด้วยการปฏิบัติอย่างระมัดระวัง ด้วยข้อมูลที่เพียงพอและมีหลักฐานสามารถอ้างอิงได้รวมทั้งถือปฏิบัติตามขอกฎหมายและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
    • ปฏิบัติต่อลูกค้า คู่ค้า อย่างเป็นธรรม ไม่เรียกร้องหรือรับผลประโยชน์ใดๆ ที่ไม่ชอบธรรมจากคู่ค้า และหากปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อใดไม่ได้ ให้รีบแจงคู่ค้าให้ทราบล่วงหน้าเพื่อรวมกันหาแนวทางแก้ไข
    • ไม่เปิดเผยข้อมูลของลูกค้าที่ตนได้ล่วงรู้มาเนื่องจากการดำเนินธุรกิจ อันเป็นข้อมูลที่ตามปกติวิสัยจะพึงสงวนไว้ไม่เปิดเผย เว้นแต่เป็นการเปิดเผย ตามหน้าที่ตามกฎหมาย
    • ปิดให้ลูกค้าสามารถร้องเรียนได้เกี่ยวกับความไม่สมบูรณ์ของสินค้าและบริการ
    • เปิดเผยข่าวสารข้อมูลของสินค้าและบริการอย่างถูกต้องครบถ้วน
    • ปฏิบัติตามข้อตกลงและเงื่อนไขต่าง ๆกับลูกค้าอย่างเป็นธรรม หากปฏิบัติตามข้อตกลงหรือเงื่อนไขไม่ได้ต้องรีบแจ้งให้ลูกค้ารับทราบ เพื่อหาทางออกร่วมกัน
    • เคารพสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น โดยบริษัทฯ มีนโยบายให้บุคคลากรปฏิบัติตามกฎหมายหรือข้อกำหนดเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา อาทิเช่น การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย
    • ส่งเสริมและปลูกจิตสำนึกให้แก่บุคลากรของบริษัทฯ ในทุกระดับชั้นให้เกิดความรับผิดชอบต่อสังคม

    การเคารพสิทธิมนุษยชน

    บริษัทมีนโยบายสนับสนุนและเคารพการปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยการปฏิบัติต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น พนักงาน ชุมชน และสังคมรอบข้างด้วยความเคารพในคุณค่าของความเป็นมนุษย์ คานึงถึงความเสมอภาคและเสรีภาพที่เท่าเทียมกัน ไม่ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน และไม่เลือกปฏิบัติไม่ว่าจะ เป็นในเรื่องของเชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา ภาษา สีผิว เพศ อายุ การศึกษา สภาวะทางร่างกาย หรือสถานะทางสังคม รวมถึงจัดให้มีการดูแลไม่ให้ธุรกิจของบริษัทเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น การใช้แรงงานเด็ก และการคุกคามทางเพศ เป็นต้น นอกจากนี้บริษัทได้ ส่งเสริมให้มีการเฝ้าระวังการปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านสิทธิมนุษยชน โดยจัดให้มีการมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและช่องทางในการร้องเรียนสำหรับผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิอันเกิดจากการดำเนินธุรกิจของบริษัทและดำเนินการเยียวยาตามสมควร ทั้งเพื่อให้การเคารพสิทธิมนุษยชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ บริษัทได้ดำเนินการสร้างองค์ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนและปลูกจิตสานึกให้บุคลากรของบริษัทปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน การปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม บริษัทฯ ตระหนักอยู่เสมอถึงความสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม อันเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าของกิจการและเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันและเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนของบริษัทฯ ในอนาคต ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้กำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติ ดังนี้

    • เคารพสิทธิของพนักงานตามหลักสิทธิมนุษยชน และปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน
    • จัดให้มีกระบวนการจ้างงาน และเงื่อนไขการจ้างงานเป็นธรรม รวมถึงการกำหนดค่าตอบแทน และการพิจารณาผลงานความดีความชอบภายใต้กระบวนการประเมินผลการทำงานที่เป็นธรรม
    • ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากร โดยจัดให้มีการจัดอบรม สัมมนา ฝึกอบรม รวมถึงส่งบุคลากรเข้าร่วมสัมมนาและฝึกอบรมวิชาการด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาความรู้ ความสามารถศักยภาพของบุคลากร รวมถึงปลูกฝังทัศนคติที่ดี มีคุณธรรม จริยธรรม และการทำงานเป็นทีมแก่บุคลากร
    • จัดให้มีสวัสดิการด้านต่างๆ สำหรับพนักงานตามที่กฎหมายกำหนด เช่น ประกันสังคม เป็นต้น และนอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนด เช่น ประกันสุขภาพ และประกันอุบัติเหตุ เป็นต้น รวมถึงการให้เงินช่วยเหลือประเภทต่างๆ แก่พนักงาน
    • จัดให้มีบริการตรวจสุขภาพประจำปีแก่บุคลากรทุกระดับชั้นของบริษัทฯ โดยพิจารณาจากปัจจัยความเสี่ยงตามระดับ อายุ เพศ และสภาพแวดล้อมในการทำงานของแต่ละบุคคล
    • ดำเนินการให้พนักงานปฏิบัติงานได้อย่างปลอดภัย และมีสุขอนามัยในสถานที่ทำงานที่ดี โดยจัดให้มีมาตรการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ และเสริมสร้างให้พนักงานมีจิตสำนึกด้านความปลอดภัย รวมถึงจัดการฝึกอบรม และส่งเสริมให้พนักงานมีสุขอนามัยที่ดี และดูแลสถานที่ทำงานให้ถูกสุขลักษณะ มีความปลอดภัยอยู่เสมอ
    • เปิดโอกาสให้พนักงานสามารถแสดงความคิดเห็น หรือร้องเรียนเกี่ยวกับปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมหรือการกระทำที่ไม่ถูกต้องในบริษัท รวมถึงให้การคุ้มครองพนักงานที่รายงานเรื่องดังกล่าว

    การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม

    บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับชุมชนและสังคมโดยรอบตัวด้วยตระหนักว่าบริษัทฯ เป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ร่วมก้าวเดินไปสู่การพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืนสืบไป บริษัทฯ จึงได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อชุมชนและสังคมอย่างต่อเนื่องควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจ ภายใต้ความรับผิดชอบต่อชุมชนและสังคมโดยรวม ดังนี้

    • มีนโยบายในการประกอบธุรกิจโดยคำนึงถึงสภาพสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ และปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่บังคับใช้อยู่อย่างเคร่งครัด
    • มีนโยบายการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) อย่างชัดเจน และยึดถือปฏิบัติกันภายในองค์กร
    • ส่งเสริมให้พนักงานของบริษัทฯ มีจิตสำนึกและความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม
    • เคารพต่อขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรมแต่ละท้องถิ่นที่บริษัทฯ เข้าไปดำเนินธุรกิจ
    • ดำเนินกิจกรรมเพื่อร่วมสร้างสรรค์สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม อย่างสมํ่าเสมอเพื่อให้ชุมชนที่บริษัทฯ ตั้งอยู่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทั้งที่ดำเนินการเองและร่วมมือกับหน่วยงานของภาครัฐ ภาคเอกชนและชุมชน
    • ให้ความร่วมมือในกิจกรรมต่างๆ กับชุมชนโดยรอบพื้นที่ที่บริษัทฯ เข้าไปดำเนินธุรกิจอยู่ตามควรแก่กรณี
    • ตอบสนองอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพต่อเหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชน ชีวิตและทรัพย์สิน อันเนื่องมาจากการดำเนินงานของบริษัทฯ โดยให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับเจ้าหน้าที่ภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

    การร่วมพัฒนาชุมชนหรือสังคม

    บริษัทตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อชุมชนและสังคม จึงมีนโยบายในการให้ความช่วยเหลือและพัฒนาสังคม ดังนี้

    • บริษัทมีนโยบายสนับสนุน และให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสมกับสังคม และชุมชน โดยเฉพาะชุมชนที่ อยู่รอบคลังก๊าซ และโรงบรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลวของบริษัท
    • บริษัทเปิดโอกาสให้ชุมชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง มีส่วนร่วมในการให้ข้อคิดเห็นสาหรับโครงการต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อชุมชน รวมทั้ง การเสนอความคิดเห็น หรือข้อร้องเรียนต่างๆ ที่เป็นผลมาจากการดำเนินงานของบริษัท
    • บริษัทให้ความร่วมมือในการดำเนินงานตามมาตรฐาน หรือข้อตกลงระดับสากลในเรื่องต่างๆ ที่จัดทำขึ้น เพื่อช่วยป้องกัน หรือลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
    • บริษัทมีนโยบายที่จะให้การสนับสนุนทางด้านการศึกษาแก่เยาวชนโดยการสนับสนุนเงินทุนการศึกษา สนับสนุนอุปกรณ์เสริมทักษะเพื่อการเรียนรู้ต่างๆแก่โรงเรียน เป็นต้น
    • บริษัทให้ความสำคัญกับการตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อมอัน เนื่องมาจากการดำเนินงานของบริษัทด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
    • บริษัทส่งเสริมให้พนักงานของบริษัทมีจิตสานึกและความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม
    • บริษัทมุ่งสนับสนุนให้พนักงานและคู่ค้า ได้มีส่วนร่วมในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ช่วยพัฒนาฟื้นฟูและดูแลทรัพยากรธรรมชาติให้คงความสมบูรณ์ รวมถึงการสร้างความตระหนักในการอนุรักษ์ทรัพยากรอย่างยั่งยืน จึงได้จัดให้มีโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งหวังให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ธรรมชาติ อีกทั้งยังเป็นการปลูกจิตสำนึกในการทำประโยชน์เพื่อสังคมอย่างแท้จริง

คณะกรรมการบริษัท มีนโยบายที่จะเปิดเผยข้อมูลสารสนเทศทางการเงินและอื่นๆ ที่เกี่ยวกับธุรกิจและผลประกอบการของบริษัทที่ตรงต่อความเป็นจริง ครบถ้วน เพียงพอ สม่ำเสมอ ทันเวลา แสดงให้เห็นถึงสถานภาพทางการเงินและการประกอบการที่แท้จริงรวมทั้งอนาคตของธุรกิจของบริษัท

นอกจากนี้ ยังมุ่งมั่นที่จะดูแลให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย ข้อบังคับ และระเบียบที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใสอย่างเคร่งครัด จัดให้มีการเผยแพร่ข้อมูลในเว็บไซต์ของบริษัท ทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ผ่านช่องทางเผยแพร่ทางสื่อมวลชน สื่อเผยแพร่ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อให้ผู้ถือหุ้น และผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ได้รับทราบข้อมูลของบริษัท ได้อย่างทั่วถึง อีกทั้งจะทำการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับแนวทางที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกาศใช้บังคับบริษัทฯ จัดให้มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ (Investor Relations) เพื่อทำหน้าที่ติดต่อสื่อสารกับนัดลงทุนหรือผู้ถือหุ้น รวมถึงนักลงทุนสถาบันและผู้ถือหุ้นรายย่อย บริษัทฯ จะจัดให้มีการประชุมเพื่อวิเคราะห์ผลการดำเนินงานเป็นประจำ รวมทั้งจะเผยแพร่ข้อมูลขององค์กร ทั้งข้อมูลทางการเงินและข้อมูลทั่วไปให้แก่ผู้ถือหุ้นนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ผ่านทางช่องทางต่างๆ ได้แก่การรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์และเว็บไซต์ของบริษัทฯ นอกจากนี้ บริษัทยังฯ ให้ความสำคัญในการเปิดเผยข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพื่อให้ผู้ถือได้รับข่าวสารเป็นประจำ โดยผ่านช่องทางเว็บไซต์ของบริษัทฯ ข้อมูลที่อยู่บนเว็บไซต์จะมีการปรับปรุงให้ทันสมัยอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นวิสัยทัศน์ พันธกิจ งบการเงิน ข่าวประชาสัมพันธ์ รายงานประจำปี โครงสร้างบริษัทฯ และผู้บริหาร โครงสร้างการถือหุ้น และผู้ถือหุ้นรายใหญ่

นอกจากนี้ บริษัทฯให้ความสำคัญต่อรายงานทางการเงิน เพื่อให้แสดงถึงสถานะทางการเงิน และผลการประกอบการที่แท้จริงของบริษัทฯ โดยอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลทางบัญชีที่ถูกต้อง ครบถ้วน และเพียงพอตามมาตรฐานการบัญชีซึ่งเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป บริษัทฯ จะเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับกรรมการแต่ละท่าน ตลอดจนบทบาท และหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัทฯ และคณะกรรมการชุดย่อยของบริษัทฯ ในรายงานประจำปีของบริษัทฯ (แบบ 56-2) และแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) และจะเปิดเผยค่าตอบแทนกรรมการและผู้บริหารระดับสูงในรายงานประจำปีของบริษัทฯ (แบบ 56-2) และแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1)

คณะกรรมการบริษัท มีความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจของบริษัท การกำกับดูแลกิจการให้เป็นไปตามเป้าหมายและแนวทางที่จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ถือหุ้น โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย

คณะกรรมการบริษัทมี หน้าที่ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ ข้อบังคับของบริษัท และ มติที่ประชุมผู้ถือหุ้น โดยปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นและ ผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และเพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินงานของบริษัท เป็นไปในทิศทางที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสีย คณะกรรมการบริษัท จะดูแลให้มีการจัดทำวิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าหมาย นโยบาย ทิศทางการดำเนินงาน แผนกลยุทธ์ แผนงาน และงบประมาณประจำปีของบริษัท โดยคณะกรรมการบริษัท จะร่วมแสดงความคิดเห็น เพื่อให้เกิดความเข้าใจในภาพรวมของธุรกิจร่วมกันก่อนที่จะพิจารณาอนุมัติ และติดตามให้มีการบริหารงานเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยจะยึดถือแนวทางของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

การควบคุมภายใน

คณะกรรมการบริษัท จัดให้บริษัท มีระบบควบคุมภายในที่ครอบคลุมทุกด้าน ทั้งด้านการเงิน และการปฏิบัติงาน ให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ และระเบียบที่เกี่ยวข้อง และจัดให้มีกลไกการตรวจสอบและถ่วงดุลที่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการปกป้องดูแลรักษาทรัพย์สินของบริษัทอยู่เสมอ จัดให้มีการกำหนดลำดับขั้นของอำนาจอนุมัติและความรับผิดชอบของผู้บริหารและพนักงานที่มีการตรวจสอบและถ่วงดุลในตัวกำหนดระเบียบการปฏิบัติงานอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร มีผู้ตรวจสอบภายในอิสระและฝ่ายตรวจสอบภายในของบริษัททำหน้าที่ตรวจสอบการปฏิบัติงานของทุกหน่วยงานให้เป็นไปตามระเบียบที่วางไว้ รวมทั้งประเมินประสิทธิภาพและความเพียงพอของการควบคุมภายในของหน่วยงานต่างๆในบริษัท

การดูแลเรื่องการใช้ข้อมูลภายใน

คณะกรรมการบริษัท ตระหนักถึงความสำคัญของการกำกับดูแลกิจการที่ดีและเพื่อความโปร่งใสและป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนจากการใช้ข้อมูลภายในของบริษัท ที่ยังไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณชนบริษัท ได้กำหนดนโยบายการใช้ข้อมูลของบริษัท ดังนี้

  1. ให้ความรู้แก่กรรมการ ผู้บริหาร รวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งระดับบริหารในสายงานบัญชีหรือการเงินที่ เป็นระดับผู้จัดการฝ่ายขึ้นไปหรือเทียบเท่า เกี่ยวกับหน้าที่ที่ต้องจัดทำและส่งรายงานการถือหลักทรัพย์ของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ตามมาตรา 59 และบทกำหนดโทษตามมาตรา 275 แห่ง พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535
  2. กำหนดให้กรรมการและผู้บริหาร รวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งระดับบริหารในสายงานบัญชีหรือการเงิน ที่เป็นระดับผู้อำนวยการฝ่ายขึ้นไปหรือเทียบเท่า จัดทำและนำส่งรายงานการถือหลักทรัพย์ของตน ของคู่สมรส และของบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ส่งผ่านมายังเลขานุการของบริษัท ก่อนนำส่ง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ทุกครั้ง โดยให้จัดทำและนำส่ง ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการ ผู้บริหารหรือรายงานการ เปลี่ยนแปลงการถือครองหลักทรัพย์ภายใน 3 วันทำการนับแต่วันที่มีการซื้อ ขาย โอน หรือรับ โอนหลักทรัพย์นั้น
  3. กำหนดให้กรรมการ ผู้บริหาร รวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งระดับบริหารในสายงานบัญชีหรือการเงินที่เป็นระดับผู้อำนวยการฝ่ายขึ้นไปหรือเทียบเท่า และผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องที่ได้รับทราบข้อมูลภายในที่เป็นสาระสำคัญ ซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงราคาหลักทรัพย์จะต้องระงับการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัท ในช่วงเวลาก่อนที่จะเผยแพร่งบการเงินหรือเผยแพร่เกี่ยวกับฐานะการเงินและสถานะของบริษัท จนกว่าบริษัทจะได้เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชนแล้วโดยบริษัทจะแจ้งให้กรรมการและผู้บริหาร รวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งระดับบริหารในสายงานบัญชีหรือการเงินที่เป็นระดับผู้อำนวยการฝ่ายขึ้นไปหรือเทียบเท่า งดการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นเวลาอย่างน้อย 30 วันล่วงหน้าก่อนการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชน และควรรอคอยอย่างน้อย 24 ชั่วโมงภายหลังการเปิดเผยข้อมูลให้แก่สาธารณชนแล้ว รวมทั้งห้ามไม่ให้เปิดเผยข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญนั้นต่อบุคคลอื่น
  4. กำหนดบทลงโทษทางวินัยหากมีการฝ่าฝืนนำข้อมูลภายในไปใช้หาประโยชน์ส่วนตนซึ่ง เริ่ม ตั้งแต่การตักเตือนเป็นหนังสือ ตัดค่าจ้าง พักงานชั่วคราวโดยไม่ได้รับค่าจ้าง หรือให้ออก จากงาน ซึ่งการลงโทษจะพิจารณาจากเจตนาของการกระทำและความร้ายแรงของความผิดนั้นๆ

บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัท

บริษัท กำหนดให้กรรมการของบริษัทปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่ที่กำหนดไว้ในกฎบัตรคณะกรรมการบริษัท และข้อพึงปฏิบัติที่ดีสำหรับกรรมการบริษัทจดทะเบียน ตามแนวทางของตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยคณะกรรมการต้องเข้าใจและทราบถึงบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของตนและต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมายวัตถุประสงค์ ข้อบังคับของบริษัท มติที่ประชุม ผู้ถือหุ้น กฎบัตรของคณะกรรมการ ตลอดจนนโยบายการกำกับดูแลกิจการของบริษัท ด้วยซื่อสัตย์สุจริตและคำนึงถึงผลประโยชน์ของบริษัท และผู้ถือหุ้นเป็นสำคัญ ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทเป็นผู้กำหนดนโยบายเป้าหมายการดำเนินธุรกิจ แผนธุรกิจตลอดจนงบประมาณของบริษัท และกำกับดูแลให้ฝ่ายจัดการดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายแผนงาน และงบประมาณที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัท และผู้ถือหุ้นโดยรวม

การประชุมคณะกรรมการ

บริษัท ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการประชุมคณะกรรมการบริษัทตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 (รวมทั้งที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม) รวมถึงข้อบังคับของบริษัท โดยบริษัทกำหนดให้มีการประชุม และวาระการประชุมคณะกรรมการเป็นการล่วงหน้าและแจ้งให้กรรมการ แต่ละท่านทราบกำหนดการดังกล่าวโดยจัดส่งเอกสารประกอบการประชุมให้แก่กรรมการเป็นการล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วันทำการก่อนวันประชุม

ทั้งนี้จำนวนครั้งของการประชุมคณะกรรมการบริษัท นั้น จะเป็นไปตามความเหมาะสมกับภาระหน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการและลักษณะการดำเนินธุรกิจของบริษัทแต่ไม่น้อยกว่า 3 เดือนต่อครั้ง

ค่าตอบแทน

ค่าตอบแทนกรรมการจะต้องได้รับการพิจารณาอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น โดยกำหนดเป็นนโยบายประกอบด้วยหลักเกณฑ์ในการพิจารณา ดังนี้

  • ผลประกอบการของบริษัท โดยเทียบเคียงได้กับค่าตอบแทนกรรมการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่ประกอบธุรกิจและมีขนาดธุรกิจในลักษณะที่ใกล้เคียงกัน
  • ประสบการณ์ บทบาท ภาระหน้าที่ และขอบเขตความรับผิดชอบของกรรมการแต่ละท่าน
  • ประโยชน์ที่คาดว่าบริษัท จะได้รับจากกรรมการแต่ละท่าน
  • ค่าตอบแทนที่กำหนดขึ้นนั้นจะต้องสามารถจูงใจกรรมการที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับความจำเป็นและสถานการณ์ของบริษัท มาเป็นกรรมการได้

รายงานประจำปีของคณะกรรมการบริษัท

คณะกรรมการบริษัท เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดทำรายงานทางการเงินของบริษัท และสารสนเทศทางการเงินที่ปรากฏในรายงานประจำปี การจัดทำรายงานทางการเงินเป็นการจัดทำตามมาตรฐานการบัญชี ที่รับรองโดยทั่วไป โดยเลือกใช้นโยบายบัญชีที่เหมาะสมและถือปฏิบัติสม่ำเสมอ และใช้ดุลยพินิจ อย่างระมัดระวังในการจัดทำ รวมทั้งกำหนดให้มีการเปิดเผยข้อมูลสำคัญอย่างเพียงพอในหมายเหตุประกอบ งบการเงิน โดยคณะกรรมการบริษัทมอบหมายให้คณะกรรมการตรวจสอบเป็นผู้ดูแลเกี่ยวกับคุณภาพ ของรายงานทางการเงิน และเป็นผู้ให้ความเห็นต่อคณะกรรมการบริษัท

นอกจากนี้บริษัทยังคงกำหนดนโยบายเพื่อสนับสนุนแนวคิดที่ตระหนักเกี่ยวกับกับการกำกับดูแลกิจการที่ดีในด้านอื่น ดังนี้

นโยบายเกี่ยวกับการต่อต้านการทุจริตหรือคอร์รัปชั่น

บริษัท จะดำเนินธุรกิจโดยให้ความสำคัญในการต่อต้านการทุจริตหรือคอร์รัปชั่น และยึดมั่นคุณธรรม จริยธรรม บริหารงานด้วยความโปร่งใส และรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย ทั้งนี้ บริษัท ได้กำหนดแนวทางในการประพฤติปฏิบัติที่เหมาะสมของคณะกรรมการ ฝ่ายบริหาร และพนักงานในจริยธรรมทางธุรกิจ และจรรยาบรรณพนักงาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ "บรรษัทภิบาล" ของบริษัท

การทุจริตหรือคอร์รัปชั่น หมายถึง "การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติในตำแหน่งหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ การฝ่าฝืนกฎหมาย จริยธรรม ระเบียบหรือนโยบายของบริษัทเพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้ ทั้งนี้ในรูปแบบต่างๆ เช่น การเรียก รับ เสนอ หรือให้ทรัพย์สิน รวมถึงประโยชน์อื่นใดกับเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลอื่นใดที่ทำธุรกิจกับบริษัท เป็นต้น"

บริษัท ได้กำหนดนโยบายเกี่ยวกับการต่อต้านทุจริตหรือคอร์รัปชั่น เพื่อเป็นแนวทางในการนำไปปฏิบัติ ดังนี้

  • กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานจะไม่กระทำหรือสนับสนุนการทุจริตหรือคอร์รัปชั่นไม่ว่า กรณีใดๆ และจะปฏิบัติตามมาตรการต่อต้านการทุจริตหรือคอร์รัปชั่นอย่างเคร่งครัด
  • คณะกรรมการบริษัท ผู้บริหาร และพนักงานทุกคน ต้องปฏิบัติตามนโยบายการต่อต้านคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องคอร์รัปชั่นไม่ว่าจะเป็น การนำเสนอ การให้คำมั่นสัญญา การขอ การเรียกร้อง การให้หรือรับสินบน การกระทำ หรือพฤติกรรมที่ส่อไปในทางคอร์รัปชั่นในทุกท้องถิ่นที่บริษัทดำเนินกิจการอยู่
  • บริษัท จะสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ ทั้งภายในและภายนอกองค์กร เพื่อเสริมสร้างให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ และความร่วมมือที่จะยับยั้งผู้ที่ต้องการกระทำคอร์รัปชั่นต่อบริษัท
  • บริษัท จะจัดทำกระบวนการปฏิบัติอย่างชัดเจน มีการประเมินความเสี่ยงด้านการทุจริตคอร์รัปชั่น รวมทั้งมีกระบวนการติดตามและสอบทานอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
  • บริษัท จะให้ความเป็นธรรมและคุ้มครองพนักงานที่ปฏิเสธหรือแจ้งเรื่องคอร์รัปชั่นที่เกี่ยวข้องกับบริษัท ผ่านช่องทางที่กำหนด แต่หากเป็นผู้กระทำคอร์รัปชั่นจะต้องได้รับการพิจารณาทางวินัยตามระเบียบที่บริษัท กำหนดไว้ นอกจากนี้อาจจะต้องได้รับโทษตามกฎหมาย หากการกระทำนั้นผิดกฎหมาย
  • เมื่อพนักงานพบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายคอร์รัปชั่นที่เกี่ยวข้องกับบริษัท ต้องแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาและหน่วยงานที่รับผิดชอบทราบ
  • สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ซื่อสัตย์และยึดมั่นในความเป็นธรรม รวมทั้งจัดให้มีการฝึกอบรมแก่พนักงานภายในองค์กร เพื่อส่งเสริมให้พนักงานมีความซื่อสัตย์สุจริตต่อหน้าที่ และพร้อมที่จะ นำหลักการและจรรยาบรรณในนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดีเป็นหลักปฏิบัติในการดำเนินงานด้วยความเคร่งครัดทั้งองค์กร
  • การดำเนินการใดๆ ตามนโยบายการต่อต้านการคอร์รัปชั่น ให้ใช้แนวปฏิบัติตามที่กำหนดไว้ ในคู่มือจรรยาบรรณธุรกิจ นโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี รวมทั้งระเบียบ และคู่มือปฏิบัติงานของบริษัทที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนแนวทางปฏิบัติอื่นใดที่บริษัทเห็นสมควรกำหนดเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายนี้ ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการบริษัท ผู้บริหาร และพนักงานทุกคนต้องปฏิบัติด้วยความระมัดระวังในเรื่องดังต่อไปนี้
    • การให้หรือรับของกำนัล การเลี้ยงรับรองและค่าใช้จ่ายในการให้หรือรับของกำนัล การเลี้ยงรับรอง ให้ถือปฏิบัติตามระเบียบของบริษัท
    • การให้หรือรับเงินบริจาคเพื่อการกุศล หรือเงินสนับสนุนการให้หรือรับเงินบริจาค ต้องดำเนินการอย่างโปร่งใสและถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งการติดตามให้ผู้รับเงินรายงานผลการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ที่ขอรับเงินจากบริษัทด้วยสำหรับความสัมพันธ์ทางธุรกิจและการจัดซื้อจัดจ้าง ห้ามมีการให้หรือรับสินบนในการดำเนินธุรกิจและการจัดซื้อจัดจ้างทุกชนิด การดำเนินธุรกิจ และการติดต่องานของบริษัท จะต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส ซื่อสัตย์ ตรวจสอบได้และอยู่ภายใต้กฎหมายและกฎเกณฑ์การดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้อง
    • ไม่กระทำการนำเงินทุนหรือทรัพยากรใดๆ ของบริษัทไปใช้เพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางการเมืองแก่ผู้ลงสมัครแข่งขันเป็นนักการเมืองหรือพรรคการเมืองใด

ทั้งนี้ บริษัท จะคำนึงถึงความเป็นธรรม และปกป้อง ไม่ลดตำแหน่ง ลงโทษ หรือให้ผลทางลบต่อพนักงานที่ปฏิเสธการคอร์รัปชั่น แม้ว่าการกระทำนั้นจะทำให้บริษัท สูญเสียโอกาสทางธุรกิจ และบริษัท จะให้ความสำคัญต่อการสื่อสาร และการทำความเข้าใจกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัท ในการที่จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามแนวนโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่นนี้

รวมทั้ง บริษัทได้จัดให้มีช่องทางการแจ้งเบาะแสการทุจริต (Whistle Blowing Channel) เพื่อเป็นช่องทางให้กรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน และผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม สามารถร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสมาโดยตรงที่ฝ่ายตรวจสอบภายใน หรือคณะกรรมการตรวจสอบทางตรง หรือผ่านฝ่ายบริหารของบริษัท โดยกำหนดช่องทางในการร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสได้ที่เว็บไซต์ของบริษัท จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ หรือทางไปรษณีย์ ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2559 เป็นต้นมา

มาตรการและขั้นตอนการอนุมัติการทำรายการระหว่างกัน

การเข้าทำรายการระหว่างกัน หรือรายการที่เกี่ยวโยงกันของบริษัท ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ และประกาศของคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 21/2551 เรื่องหลักเกณฑ์ในการทำรายการที่เกี่ยวโยงกัน ประกอบกับประกาศคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ เรื่อง การเปิดเผยข้อมูลและการปฏิบัติของบริษัทจดทะเบียนในรายการที่เกี่ยวโยงกันรวมทั้งกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของสำนักงาน ก.ล.ต. และ/หรือ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการปฏิบัติตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการเปิดเผยรายการระหว่างกันในเหตุประกอบงบการเงินที่ได้รับการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีของบริษัท รายงานประจำปี และแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปีของบริษัท (แบบ 56-1)

ในกรณีที่กฎหมายกำหนดให้บริษัท ต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท หรือที่ประชุม ผู้ถือหุ้นก่อนการเข้าทำรายการที่เกี่ยวโยงกันในเรื่องใด บริษัท จะจัดให้คณะกรรมการตรวจสอบ ตรวจสอบและให้ความเห็นเกี่ยวกับรายการดังกล่าว และความเห็นของคณะกรรมการตรวจสอบจะถูกนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท หรือผู้ถือหุ้นแล้วแต่กรณี เพื่อให้มั่นใจว่าการเข้าทำรายการตามที่เสนอนั้นเป็นไป เพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัท

กรณีที่มีรายการระหว่างกันของบริษัท และ/หรือบริษัทย่อย กับบุคคลที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ มีส่วนได้ส่วนเสีย หรืออาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในอนาคต คณะกรรมการตรวจสอบจะเป็นผู้ให้ความเห็นเกี่ยวกับความจำเป็นในการเข้าทำรายการและความเหมาะสมทางด้านราคาของรายการนั้นๆ โดยพิจารณาเงื่อนไขต่างๆ ให้เป็นไปตามลักษณะการดำเนินธุรกิจปกติในอุตสาหกรรม และ/หรือ มีการเปรียบเทียบกับราคาของบุคคลภายนอก และ/หรือ ราคาตลาด และ/หรือ มีราคาหรือเงื่อนไขของการทำรายการดังกล่าวในระดับเดียวกันกับบุคคลภายนอก และ/หรือ สามารถแสดงให้เห็นได้ว่าการทำรายการดังกล่าวนั้นมีการกำหนดราคาหรือเงื่อนไขที่สมเหตุสมผลหรือเป็นธรรม หากคณะกรรมการตรวจสอบไม่มีความชำนาญในการพิจารณารายการระหว่างกันที่อาจเกิดขึ้น บริษัทจะจัดให้ผู้เชี่ยวชาญอิสระหรือผู้สอบบัญชีของบริษัท เป็นผู้ให้ความเห็นเกี่ยวกับรายการระหว่างกันดังกล่าว เพื่อนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจของคณะกรรมการ คณะกรรมการตรวจสอบ และ/หรือ ผู้ถือหุ้นแล้วแต่กรณี โดยมีแนวทางในการพิจารณาถึงความจำเป็นและความสมเหตุสมผลของการเข้าทำรายการระหว่างกันที่สำคัญด้วย

สำหรับการอนุมัติการทำรายการระหว่างกันนั้น ผู้ที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์หรือมีส่วนได้เสียในการทำรายการจะไม่มีสิทธิออกเสียงในการอนุมัติการทำรายการระหว่างกันดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อให้มั่นใจว่าการเข้าทำรายการดังกล่าวจะไม่เป็นการโยกย้าย หรือถ่ายเทผลประโยชน์ระหว่างบริษัท หรือผู้ถือหุ้นของบริษัท แต่เป็นการทำรายการที่บริษัท ได้คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้นทุกราย

ทั้งนี้ ในหลักการให้ฝ่ายจัดการสามารถอนุมัติการทำธุรกรรมดังกล่าว หากธุรกรรมเหล่านั้นมีข้อตกลงทางการค้า ในลักษณะเดียวกับที่วิญญูชนพึงกระทำกับคู่สัญญาทั่วไปในสถานการณ์เดียวกัน ด้วยอำนาจต่อรองทางการค้าที่ปราศจากอิทธิพลในการที่ตนมีสถานะเป็นกรรมการ ผู้บริหาร หรือบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องและบริษัทจะต้องจัดทำรายงานสรุปการทำธุรกรรมดังกล่าว เพื่อรายงานในการประชุมคณะกรรมการบริษัทในครั้งต่อไป

นโยบายในการทำรายการระหว่างกัน

ค่าตอบแทนกรรมการจะต้องได้รับการพิจารณาอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น โดยกำหนดเป็นนโยบายประกอบด้วยหลักเกณฑ์ในการพิจารณา ดังนี้

  1. กรรมการและผู้บริหารของบริษัท จัดทำรายงานการมีส่วนได้เสียของตนหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องและแจ้งให้บริษัททราบ เพื่อให้บริษัท มีข้อมูลสำหรับใช้ประโยชน์ภายใน ในการดำเนินการตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการทำรายการระหว่างกัน
  2. ในกรณีที่บริษัท เข้าทำสัญญาใด ๆ ก็ตาม หรือมีการทำรายการระหว่างกันกับบริษัทย่อย บริษัทร่วม บริษัทที่เกี่ยวข้อง และ/หรือบุคคลภายนอก บริษัท จะพิจารณาถึงความจำเป็นและความเหมาะสมในการทำสัญญานั้น โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของบริษัท เป็นหลัก และมีการคิดราคาระหว่างกันตามเงื่อนไขเช่นเดียวกับลูกค้าทั่วไปตามราคาตลาดยุติธรรม โดยจะใช้ราคาและเงื่อนไขเช่นเดียวกับการทำรายการกับบุคคลภายนอก (Arm’s Length Basis)ซึ่งต้องเป็นธรรม สมเหตุสมผล และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่บริษัท และผู้ถือหุ้นทุกราย และหากไม่มีราคาดังกล่าว บริษัท จะพิจารณาเปรียบเทียบราคาสินค้าหรือบริการกับบุคคลภายนอก ภายใต้เงื่อนไขที่เหมือนหรือคล้ายคลึงกัน หรืออาจใช้ประโยชน์จากรายงานของผู้ประเมินอิสระซึ่งว่าจ้างโดยบริษัท มาทำการเปรียบเทียบราคาสำหรับรายการระหว่างกันที่สำคัญเพื่อให้มั่นใจว่าราคาดังกล่าวสมเหตุสมผลและเพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัท และผู้ถือหุ้นทุกราย
  3. บริษัท จะดำเนินการรายการความช่วยเหลือทางการเงินกับบริษัทย่อย บริษัทร่วม เช่น เงินทุนหมุนเวียนในรูปเงินกู้ การให้กู้ยืมค้ำประกัน ด้วยความระมัดระวัง เพื่อประโยชน์สูงสุดของกลุ่ม โดยคิดค่าตอบแทนระหว่างกัน เช่น ค่าดอกเบี้ย หรือค่าธรรมเนียมการค้ำประกัน ในราคาตลาด ณ วันที่เกิดรายการ
  4. ในกรณีที่รายการที่เกี่ยวโยงกันมีมูลค่าเข้าเกณฑ์ที่ต้องขออนุมัติจากผู้ถือหุ้น ผู้ถือหุ้นที่มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถเข้าประชุมได้เพื่อนับเป็นองค์ประชุม แต่ไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน ซึ่งฐานในการคำนวณคะแนนเสียงเพื่ออนุมัติรายการที่เกี่ยวโยงกัน ไม่นับส่วนของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เกณฑ์ดังกล่าวจึงไม่มีปัญหากับองค์ประชุมและคะแนนเสียง
  5. กรรมการหรือผู้บริหารซึ่งมีส่วนได้เสียในเรื่องใดไม่มีสิทธิออกเสียงและไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมประชุมหรืออนุมัติรายการในเรื่องนั้น

ในอนาคต หากมีการเข้าทำรายการระหว่างกันบริษัท จะปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หรือข้อกำหนดของคณะกรรมการกำกับตลาดทุน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทั้งนี้ การเข้าทำรายการดังกล่าวจะต้องไม่เป็นการโยกย้าย หรือถ่ายเทผลประโยชน์ระหว่างบริษัท หรือผู้ถือหุ้นของบริษัท แต่ต้องเป็นการทำรายการที่บริษัท ได้คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของบริษัท และผู้ถือหุ้นทุกราย

ในกรณีที่เป็นรายการที่เกิดขึ้นเป็นปกติ และคาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคตบริษัทจะดำเนินการตามหลักเกณฑ์และแนวทางในการปฏิบัติให้เป็นไปตามลักษณะการค้าโดยทั่วไป โดยอ้างอิงกับราคาและเงื่อนไขที่เหมาะสมและยุติธรรม สมเหตุสมผล สามารถตรวจสอบได้ และการเข้าทำรายการดังกล่าว จะเป็นไปตามหลักการเกี่ยวกับข้อตกลงที่มีเงื่อนไขทางการค้าทั่วไปตามที่มีการอนุมัติโดยที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท

ในการนี้ ฝ่ายจัดการจะมีการจัดทำรายการสรุปการเข้าทำธุรกรรมดังกล่าวเพื่อรายงานในการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบทุกปี

ในส่วนของการเปิดเผยรายการระหว่างกันของบริษัท จะเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำหนด อีกทั้งเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีเกี่ยวกับบริษัท หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกันของสภาวิชาชีพบัญชี

นโยบายป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์

เพื่อเป็นการประกาศเจตนารมณ์ ของบริษัท ว่าด้วยการตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ (Conflict of Interest) และ เพื่อรักษาผลประโยชน์สูงสุดของบริษัทรวมถึงผู้ถือหุ้น จึงได้กำหนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติ ดังนี้

  1. ห้ามกรรมการ ผู้บริหารและพนักงานของบริษัทใช้โอกาสหรือข้อมูลของบริษัท ในการหาประโยชน์ส่วนตน หรือทำธุรกิจแข่งขันกับบริษัท
  2. การตัดสินใจใดๆ ของบุคลากรทุกระดับในการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจจะต้องทำเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของบริษัทเท่านั้น และถือเป็นหน้าที่ของบุคลากรทุกระดับที่จะหลีกเลี่ยงการมีส่วนเกี่ยวข้องทางการเงิน หรือ ความสัมพันธ์กับบุคคลภายนอกอื่นๆ ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทต้องเสียผลประโยชน์ หรือก่อให้เกิดความขัดแย้งในด้านความซื่อสัตย์ หรือผลประโยชน์ หรือขัดขวางการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวโยงกับรายการที่พิจารณา ต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความขัดแย้งทางผลประโยชน์นั้น ให้บริษัททราบถึงความสัมพันธ์หรือความเกี่ยวโยงของตนในรายการดังกล่าว และต้องไม่เข้าร่วมการพิจารณาและอนุมัติรายการดังกล่าว
  3. หากเป็นการทำรายการระหว่างกันที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ให้คณะกรรมการบริษัทดำเนินการตามมาตรการและขั้นตอนการอนุมัติการทำรายการระหว่างกันที่บริษัทได้กำหนดเอาไว้เป็นลายลักษณ์อักษรด้วย

นโยบายการลงทุนและนโยบายการกำกับดูแลการดำเนินงานของบริษัทย่อย

  1. บริษัทให้ความสำคัญและมุ่งเน้นในการลงทุนในกิจการที่มีศักยภาพในการเติบโต และสร้างผลตอบแทนที่ดีจาการลงทุนที่เกี่ยวกับก๊าซปิโตรเลียมเหลว ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัทโดยให้ความสำคัญในการขยายธุรกิจ หรือเพิ่มกำลังการผลิตของบริษัทในพื้นที่ต่าง ๆ
  2. บริษัท มีนโยบายในการลงทุนในธุรกิจที่สามารถสนับสนุนและส่งเสริมธุรกิจหลักของบริษัทโดยอาจจะเข้าซื้อหุ้นหรือซื้อกิจการอื่นที่เกี่ยวข้องได้
  3. บริษัท อาจพิจารณาลงทุนในธุรกิจอื่นที่มิใช่ธุรกิจหลักของบริษัทในอนาคต ทั้งนี้ การลงทุนจะต้องมีความสอดคล้องเหมาะสมกับสภาพธุรกิจและแผนยุทธศาสตร์ของบริษัท
  4. ในการพิจารณาลงทุนในโครงการต่าง ๆ ของบริษัท บริษัทจะทำการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการและพิจารณาถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องประกอบ ซึ่งรวมถึงความเสี่ยงของการลงทุน ในโครงการแนวโน้มการขยายตัวของธุรกิจ การสร้างมูลค่าเพิ่ม ความคุ้มค่าของโครงการการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับบริษัท เป็นต้น โดยบริษัทจะจัดให้ผู้เชี่ยวชาญของบริษัท (หรือผู้เชี่ยวชาญบุคคลภายนอก แล้วแต่กรณี)ได้พิจารณาถึงการลงทุนในโครงการดังกล่าวก่อนการลงทุนเสมอ และจะนำเสนอแผนการลงทุนต่อคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณารวมถึงให้คำแนะนำ เพื่อลดความเสี่ยงทางการลงทุนที่อาจเกิดขึ้น
  5. ในกรณีที่เป็นการร่วมลงทุนกับบุคคลอื่นทางบริษัทจะทำการตรวจสอบเพื่อให้เป็นที่มั่นใจว่าผู้ร่วมลงทุนของบริษัทมีความเหมาะสม มีความน่าเชื่อถือ และไม่มีประวัติหรือพฤติการณ์ฉ้อฉล หรือฉ้อโกงในอดีต
  6. ในกรณีที่จำเป็นต้องมีการป้องกันความเสี่ยง หรือการประกันภัยใด ๆ ในการลงทุน ทางบริษัท จะจัดให้มีการป้องกันความเสี่ยง หรือการประกันภัยตามที่เหมาะสม
  7. การลงทุนของบริษัท จะทำในลักษณะเช่นเดียวกับการทำรายการกับบุคคลภายนอก (Arm’s Length Basis) โดยมีการตรวจสอบและป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจจะเกิดขึ้นในการลงทุนดังกล่าวทุกครั้ง
  8. ในการขออนุมัติการลงทุนของบริษัทจะต้องสอดคล้องเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน เรื่องหลักเกณฑ์ในการทำรายการที่มีนัยสำคัญที่เข้าข่ายเป็นการได้มาหรือจำหน่ายไป ซึ่งทรัพย์สิน และประกาศคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่องการเปิดเผยข้อมูลและการปฏิบัติการของบริษัทจดทะเบียนในการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ พ.ศ. 2547

บริษัท ได้กำหนดจรรยาบรรณในการประกอบธุรกิจ เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติที่ดีในการดำเนินธุรกิจ และใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานอย่างเหมาะสม ทั้งนี้เพื่อสร้างรากฐานให้องค์กรสามารถดำเนินกิจการได้อย่างมั่นคง โดยกำหนดให้บริษัท ดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรม โดยชอบด้วยกฎหมายและต้องเป็นไปตามข้อกำหนดต่างๆ และเคารพสิทธิของผู้ค้า และลูกค้าของบริษัท รวมถึงต้องรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน และบุคลากรของบริษัท ทุกคนไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคนทุกระดับจะต้องถือปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน ภายใต้กรอบจริยธรรม คุณธรรม ความซื่อสัตย์ เป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่ว่าบุคคลดังกล่าวจะได้ลงนามรับทราบหรือไม่

อีกทั้งบริษัทมีนโยบายที่จะทบทวนและปรับปรุงจรรยาบรรณทางธุรกิจของบริษัททุกปี เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงการให้ความสำคัญในการนำไปปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นทุกภาคส่วนอย่างเป็นธรรม เท่าเทียมกัน มีความโปร่งใส และเสนอข้อมูลอย่างถูกต้องเพียงพอ ทั้งนี้บริษัท ได้ดำเนินการเผยแพร่จรรยาบรรณธุรกิจผ่านทางเว็บไซต์ และแบบรายงานประจำปี (Annual Report) ของบริษัทเพื่อสร้างความเข้าใจที่ดี และส่งเสริมให้เกิดการปฏิบัติตามของกรรมการ ผู้บริหาร พนักงานทุกระดับชั้น และผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งการสื่อสารและเผยแพร่ให้แก่พนักงานใหม่ได้รับทราบโดยทั่วกันด้วย

บริษัทและบริษัทย่อยจ่ายค่าตอบแทนจากการสอบบัญชีให้สำนักงานที่ผู้สอบบัญชีสังกัด คือ บริษัทไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด ("PwC") ประจำปี 2561 รวมจำนวน 6 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วย ค่าสอบบัญชีของบริษัทประจำปี 2561 จำนวน 5.4 ล้านบาท และค่าสอบบัญชีของบริษัทย่อยประจำปี 2561 จำนวน 0.6 ล้านบาท และบริษัท ศักดิ์เศรษฐ์ คอนเซ้าท์ติ้ง จำกัด ("Sakcess") เป็นผู้สอบบัญชีของบริษัทย่อยประจำปี 2561 จำนวน 0.08 ล้านบาท

-ไม่มี-